
ต่อภาษีรถยนต์ผ่านอินเตอร์เน็ต
โลกทุกวันนี้สะดวกสบายมากขึ้นกับการเสียตัง แม้แต่การจะต่อภาษีรถยนต์ยังไม่ต้องไปดำเนินการที่ขนส่งเลยนะครับ วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการต่อภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตกันนะครับ สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง หรือ คนที่ขี้เกียจเดินทางไปต่อภาษีที่ขนส่ง หรือจะไปที่ 7/11 ก็นะ ยืนรอกันขาแข็งเลยกว่าพนักงานจะจัดการให้เราเรียบร้อย สำหรับรถที่จะใช้บริการได้มีดังนี้นะครับ
- รถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
- รถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ จดทะเบียนไม่เกิน 7 ปี
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จดทะเบียนไม่เกิน 5 ปี
- เป็นรถจดทะเบียนจังหวัดใดก็ได้
- รถที่ค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี และชำระภาษีล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน
ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าไปที่เว็บไซด์ขนส่งก่อนครับ https://eservice.dlt.go.th/ ก็จะเจอหน้าตาแบบนี้ครับ เราต้องเข้าไปที่เมนูลงทะเบียนกันก่อนนะครับตามภาพ ถ้าใครเข้ามาครั้งแรก ก่อนอื่นต้องลงทะเบียนก่อนนะครับ คลิ๊กที่เมนูลงทะเบียนสมาชิกใหม่ ได้เลยครับ
เมื่อเราเข้าไปที่เมนูลงเบียนแล้วให้กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน แล้วคลิ๊กไปที่เมนู “ที่อยู่ส่งเอกสาร”
ถ้าเราต้องการใช้ที่อยู่เดียวกับที่อยู่ปัจจุบันสามารถ เลือกที่ข้อมูลเหมือนกับที่อยู่ปัจจุบัน เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วให้คลิ๊กที่ปุ่ม “บันทึก” เพื่อลงทะเบียนสำหรับเข้าใช้งานระบบ
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยระบบจะมี หน้าต่างเด้งขึ้นมาแจ้งสถานะว่าลงทะเบียนเรียบร้อย ให้เราคลิ๊กที่ปุ่ม “กลับหน้า Login” บนหน้าต่างที่เด้งขี้นมาแจ้งสถานะ
เมื่อลงทะเบียนการเข้าใช้งานเรียบร้อยก็มาลุยต่อกันเลยครับ เมื่อเรากลับมาที่หน้าแรกแล้ว เราจะเข้าระบบได้นั้นจะต้อง Login ก่อน โดยจะใช้
Username = หมายเลขบัตรประชาชน ที่เราลงทะเบียนไว้
Password = พาสเวิร์ดที่เราได้ลงทะเบียนไว้ในตอนแรก
เมื่อใส่ Username/Password เรียบร้อยแล้วให้คลิ๊กที่ปุ่ม “เข้าสู่ระบบ”
เมื่อเราเข้าสู่ระบบแล้ว หน้าแรกจะมีข้อความต้อนรับ เป็นชื่อที่เราลงทะเบียนไว้แสดงว่าเราเข้าระบบได้เรียบร้อย จากนั้นให้เราคลิ๊กที่เมนู “ชำระภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต”
คลิ๊กที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี”
เมื่อเข้ามาแล้วให้เราคลิ๊กที่ปุ่ม “ลงทะเบียนรถ” เพื่อเก็บข้อมูลรถของเราเข้าสู่ระบบก่อนครับ
เราต้องกรอกข้อมูลรถยนต์คันที่จะต่อภาษีให้ถูกต้องและครบถ้วน เมื่อใส่ข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้ คลิ๊กที่ปุ่ม “บันทึก”
เมื่อลงทะเบียนรถเรียบร้อยระบบจะแจ้งสถานะให้เราทราบว่าข้อมูลรถยนต์ที่เราลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
หลังจากที่เราลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว รถยนต์ที่เราลงทะเบียนจะมาปรากฎเป็น รายการตามตัวอย่างด้านล่างตามลำดับ ให้เราคลิ๊กที่ “ไอคอน” ทางขวาสุดของรถยนต์ที่เราต้องการ ต่อภาษีรถยนต์ผ่านอินเตอร์เน็ต
ระบบจะแสดงรายละเอียดของรถยนต์ที่เราจะต่อทะเบียน และจำนวนเงินที่ใช้ชำระในการต่อทะเบียน ระบบจะให้เราเลือกนะครับว่ามี พ.ร.บ. แล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วเลือกตรงหัวข้อว่ามีแล้ว จากตัวอย่างผมจะเลือกว่ามี พ.ร.บ. แล้วนะครับ
หรือถ้าใครยังไม่มีก็สามารถซื้อกับทางขนส่งได้เลย โดยเลือกที่หัวข้อไม่มี (ถ้าซื้อผ่านระบบ จะเลือกไม่ได้ว่าจะซื้อ พ.ร.บ. ของบริษัทอะไรนะครับเนื่องจากขนส่งมีให้เลือก พ.ร.บ. ของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพียงบริษัทเดียว
ถ้าสนใจ พ.ร.บ. ของบริษัทอื่น ๆ ก็มาอุดหนุนผมก็ได้นะครับยินดีเป็นอย่างยิ่ง
*** ทริค ในการเลือกซื้อ พรบ. ให้เราเลือกซื้อให้เป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทเราทำประกันภาคสมัครใจไว้นะครับ ถ้าเลือกไม่ตรงกัน ตอนเกิดเหตุแล้วมีอันต้องเบิกสินไหมจาก พ.ร.บ. ต้องเดินทางไปเองนะครับ แต่ถ้าเป็นบริษัทเดียวกันก็เบิกทุกอย่างที่เดียวกันเลยครับ ***
ระบบจะมีหน้าต่างเด้งมาเตือนว่าข้อมูล พ.ร.บ. ที่เราจะกรอกไปนั้นเป็นหลักฐานทางกฎหมายนะ (ประมาณว่าถ้ากรอกมั่ว ๆ ไปอาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้นะ) ถ้าเราไม่ได้กรอกอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ให้ คลิ๊กที่ปุ่ม “ดำเนินการต่อ”
จากนั้นระบบจะให้เราเลือกนะครับว่า พ.ร.บ. ของเรานั้นเป็นบริษัทอะไร ให้เราใส่เลขที่ กรมธรรม์ และ วันที่สิ้นสุดความคุ้มครองลงไป เมื่อเรากรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วให้ คลิ๊กที่ปุ่ม “กรอกสถานที่จัดส่งเอกสาร”
ให้เรากรอก ชื่อ – นามสกุล ของผู้รับเอกสาร และเลือกที่อยู่สำหรับจัดส่งเอกสาร โดยระบบจะให้เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้จัดส่งไปไหน
- ที่อยู่สมาชิก คือ ที่อยู่ที่เราลงทะเบียนไว้ในตอนแรก
- จัดส่งเอกสาร คือ ที่อยู่ที่เราลงเบียนเป็นที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารในตอนแรก
- ที่อยู่ผู้เอาประกัน คือ ถ้าเราซื้อ พ.ร.บ. กับขนส่ง ขนส่งจะให้กรอกที่อยู่ผู้เอาประกัน ซึ่งสามารถนำมาเป็นใช้เป็นที่อยู่ในการส่งเอกสารได้
- จัดส่งเอกสารล่าสุด คือ ถ้าใครเคยใช้บริการอยู่แล้ว ขนส่งจะใช้ที่อยู่เดิมที่เคยจัดส่งมาใช้ในการจัดส่งเอกสารให้เรา
- อื่น ๆ คือ เราจะต้องกรอกใหม่ ว่าจะให้ส่งไปที่ไหนก็แล้วแต่เราจะกรอกไป
จากตัวอย่าง ผมเลือกที่อยู่สมาชิก คือให้ส่งมาให้ผมที่บ้านตามที่ลงทะเบียนไว้ในตอนแรก เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนเรียบร้อยแล้วให้คลิ๊กที่ปุ่ม “เลือกวิธีการชำระเงิน”
เราจะต้องเลือกว่าจะชำระเงินค่าในช่องทางใด ระบบจะมีให้เลือกการชำระเงินได้ 3 ช่องทางคือ
- ชำระโดยหักบัญชีเงินฝากธนาคาร คือ ถ้าเลือกวิธีนี้ระบบจะ ลิ้งค์ ไปที่ระบบออนไลน์ของธนาคารแต่ปัจจุบันยังไม่รองรับทุกธนาคาร ข้อดีคือวิธีนี้ไม่มีค่าธรรมเนียม
- ชำระผ่านบัตรเครดิต คือ ถ้าเลือกวิธีนี้ระบบจะ ลิ้งค์ ไปที่ระบบตัดบัตรเครดิต เราก็ดำเนินการตามขั้นตอนปกติของการตัดบัตร ข้อดีคือวิธีนี้ไม่ต้องจ่ายเงินสดทันที เปรียบเสมือนเหมือนการใช้บัตรเครดิตทั่วไป ข้อเสียคือมีค่าธรรมการใช้บัตรเครดิต
- ชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ คือ ถ้าเลือกวิธีนี้จะเป็นการพิมพ์ใบจ่ายเงิน และนำไปจ่ายตามเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ที่ให้บริการรับชำระเงิน ข้อดีคือคนที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือ บัญชีธนาคารที่ระบบรองรับก็สามารถใช้งานได้ ข้อเสียคือมีค่าธรรมเนียมของการจ่ายเงินตามเคาน์เตอร์เซอร์การทั่วไป
จากตัวอย่างเราจะเลือกชำระเงินโดยการชำระผ่านเคาน์เตอร์บริการ จากนั้นให้เราคลิ๊กที่ปุ่ม “ตกลง”
ให้คลิ๊กที่ปุ่ม “ตกลง” อีกครั้งหนึ่งเพื่อไปยังหน้าพิมพ์ใบชำระเงิน
ระบบจะแสดงรายละเอียดทั้งหมดที่เราทำรายการมา ให้ตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมด ถ้าทุกอย่างถูกต้องแล้วให้คลิ๊กที่ปุ่ม “ยืนยัน”
ระบบจะมีหน้าต่างแจ้งเตือนเพื่อยืนยันการชำระเงินว่าสามารถชำระได้ภายในไหนวันที่เท่าไหร่ ให้เราคลิ๊กที่ปุ่ม “ยืนยัน”
เมื่อเรายืนยันข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งสถานะว่าเราดำเนินการเรียบร้อยแล้วให้เราคลิ๊กที่ปุ่ม “ตกลง” เพื่อไปยังหน้า พิมพ์ใบจ่ายเงิน
ระบบจะแสดงหน้ารายละเอียดของการจ่ายเงินให้เราตรวจสอบว่าจำนวนเงินถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็ให้คลิ๊กที่ปุ่ม “พิมพ์” ตรงด้านล่างเพื่อพิมพ์ใบชำระเงิน และนำไปจ่ายที่เคาน์เตอร์บริการตามรายละเอียดในเอกสาร
เป็นที่เรียบร้อยกับการ ต่อภาษีรถยนต์ผ่านอินเตอร์เน็ต จากนั้นก็รอประมาณ 7-10 วันจะมีป้ายภาษีพร้อมใบเสร็จส่งมาให้เราที่บ้าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าบทความคงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับ ผู้ใช้รถยนต์มือใหม่ มือเก่า ไม่มากก็น้อยนะครับ